Trending News

Subscribe Now

Creator ควรจะเป็นอย่างไร ในเวลาที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น Creator กันหมด

Creator ควรจะเป็นอย่างไร ในเวลาที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น Creator กันหมด

Article | Creative/Design

คุยเจาะลึกงาน iCreator Conference 2020 กับ คุณเอ็ม ขจร เจรียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้ง The Zero Publisher และชายผู้เป็นหัวเรือหลักของรายการ iCreator Podcast โดยครั้งนี้ iCreator Conference จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยปีนี้มาในธีม “Next Gen and The Legends” ในบทความนี้เราจะมาสัมภาษณ์ คุณเอ็ม เกี่ยวกับมุมมองของการเป็น Creator กับคำถามที่ว่า “Creator ควรจะเป็นอย่างไร ในเวลาที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น Creator กันหมด” 

คำว่า Creator ในมุมมองของคุณเอ็ม คืออะไร และต่างจาก YouTuber, Blogger หรือ คนทำเว็บไซต์อย่างไร? 

คุณเอ็ม: จริงๆ คำว่า YouTuber หรือ Blogger เป็นคำที่ตั้งขึ้นมาตามแพลตฟอร์มนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น YouTuber ที่มาจากแพลตฟอร์ม YouTube หรือ Blogger ที่มาจากเว็บไซต์เป็นหลัก แต่พอไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มนั้นๆ เราจึงต้องหาชื่อกลางที่ใช้เรียกทุกคน ซึ่งในต่างประเทศหรือที่อื่นๆ เขามักจะใช้คำว่า Creator เป็นการมองในภาพรวมว่าทุกคน คือคนทำคอนเทนต์

จริงๆ แค่เราโพสต์ Facebook หรือ Tweet 1 ครั้ง เราก็ถือว่าเป็น Creator คนหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่แยกระหว่างคนทำคอนเทนต์ทั่วไปและ Content Creator มืออาชีพ คือ ความต่อเนื่องของการสร้างสรรค์เนื้อหา เช่น วันนี้อาจมีหนึ่งคนที่ทำคลิปหนึ่งคลิปแล้วดังชั่วข้ามคืน คนแชร์ออกไปมากมาย แต่เขาคนนั้นอาจจะไม่ได้สร้างเนื้อหาอย่างต่อเนื่องในภายหลัง กลายเป็นว่า เขาดังขึ้นมาแค่คลิปเดียว ขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้เราเรียกว่าเป็น Influencer หรือ Net Idol มากกว่า

กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของการผลิตเนื้อหาอย่างมีรูปแบบ มีการวางแผนล่วงหน้า และมีความจริงจังซ่อนอยู่ในผลงาน คือคุณไม่ได้สร้างคอนเทนต์อย่างเดียว แต่ต้องโน้มน้าวใจคน หรือชักจูงคนอย่างต่อเนื่องได้ด้วย 

คุณเอ็ม คิดเห็นอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่อยากเป็น Content Creator เยอะมาก

ผมคิดว่า การที่เราอยากเป็นอาชีพใดอาชีพหนึ่ง มีปัจจัยหลักอยู่ 2 อย่าง คือ 

1. เราเห็นเขาบ่อย เราต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้อาจไม่ได้ดูทีวี แต่เขาดู YouTube บ่อยมาก เมื่อเห็น YouTuber เยอะ เขาก็อยากเป็นบ้าง

2. เรารู้สึกว่าอาชีพนี้มันดูมีเสน่ห์บางอย่าง เหมือนในอดีตที่หลายคนเคยคิดว่า การเป็นวิศวกรมันดูเท่จังเลย หรือการเป็นคุณหมอทำให้เรามีหน้ามีตาในสังคม เพราะได้ช่วยคนอื่น 

ปัจจุบันที่เด็กๆ อยากเป็น Creator เยอะขึ้นก็อาจเป็นเพราะว่า เขาเห็นคนแบบนี้ ดูมีหน้ามีตาในสังคม แล้วเรื่องรายได้ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าอาชีพอื่นเท่าไหร่ และที่สำคัญคือพวกเขาดูมีชีวิตที่เป็นอิสระ 

มีผลสำรวจจากทาง Adecco พบว่า 5 อันดับ อาชีพในฝันของเด็กไทยในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยอันดับ 1 คือ เด็กๆ อยากเป็นหมอ อันดับ 2 คือ อาชีพครู ส่วนอันดับ 3 คือ YouTuber! 

ในฝั่งอเมริกาก็มีการสำรวจแบบนี้เช่นกัน แต่ที่นั่นมีความน่าสนใจมากกว่าตรงที่ แชมป์อันดับ 1 ตลอดการ อย่างการมีตำแหน่งเป็นนักบินอวกาศ ถูกโค่นโดยตำแหน่ง Youtuber อาจจะเป็นเพราะว่า อาชีพนี้เริ่มได้ง่าย ทำได้เลย และแข่งขันกันที่ฝีมืออย่างเดียว

ในเมื่อมีคนอยากเป็น Content Creator กันเยอะมากเลย แล้วอะไรที่ทำให้เขาไม่สามารถเป็น Content Creator ที่ประสบความสำเร็จได้

คำถามที่ผมมักจะได้รับทาง inbox จากการทำรายการ iCreator (รายการสอนคนทำคอนเทนต์) คือ

 “พี่คะ หนูอยากเป็น Beauty Blogger แล้วมีคนตาม 100,000 คนภายใน 3 เดือน พี่ช่วยสอนวิธีทำหน่อย แนะนำหน่อย” 

ซึ่งหลังจากที่เราแนะนำน้องๆ เขาไปแล้ว เราก็ลองตามไปดูผลงาน เราพบว่า ถ้าเกิน 3 เดือนแล้วน้องยังไม่ดัง หรือยังไม่เป็นที่รู้จัก น้องๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะออกจากสายงานนี้ไป 

อาจเป็นเพราะว่า เขามีมุมมองต่างกัน หากเทียบกับคนที่ทำคอนเทนต์มานานระดับหนึ่ง Creator หน้าใหม่มักจะมองถึงปลายทาง มองวันที่มีคนติดตามมากมาย มีผู้สนับสนุนเดินหน้าเข้าหา ซึ่งถ้าเรายึดจุดนั้นเป็นหลัก โอกาสที่เราจะเลิกกลางทางนั้นมีมากเลย เช่น ถ้าบอกว่า “ฉันต้องมี 1 ล้านวิวจากวิดีโอนี้” แต่พอคลิปจริงออกมา กลับได้ยอดวิวแค่หลักหมื่น เป็นแบบนี้ก็ท้อทันทีเลย

ตรงข้ามกับคนทำคอนเทนต์ระดับท็อปในเมืองไทย ส่วนใหญ่ที่ผมเคยสัมภาษณ์ เขามักจะทำงานนี้ด้วยความสนุก เริ่มต้นการทำคอนเทนต์จาก passion อันมากมายในตัวเขา

ยกตัวอย่าง พี่เอ๋ “นิ้วกลม” พี่เขาไม่รู้หรอกว่า ตอนนี้คนอ่านหนังสือเขาเยอะหรือเปล่า และคนยังอยากจะอ่านต่อไปไหม แต่สิ่งที่เขาแน่ใจก็คือ เขาอยากจะเขียนต่อไปเรื่อยๆ เพราะเขารักการเขียนมากๆ แม้จะไม่มีคนอ่าน เขาก็ยังอยากที่จะเขียนอยู่ดี แบบนี้หมายความว่า พี่เอ๋ กำลังเขียนด้วยความรักจริงๆ ตวัดปากกาด้วย passion ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ยอดไลก์” อาจจะไม่ได้สำคัญสำหรับเขาเท่าไหร่

คุณสุทธิชัย หยุ่น ในวัย 73 ปี ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกหนึ่งคน ทำงานสายนักข่าวตั้งแต่ยังหนุ่ม จนอายุขนาดนี้ เขายังมีรายการไลฟ์ของตัวเองอยู่ทุกวัน และจนปัจจุบันก็ยังทำอยู่ด้วย เขาบอกว่า เขาไม่แคร์เลย ว่าเขาจะมีคนตามเป็นแสนหรือเป็นล้าน เขาสนใจอย่างเดียวคือ เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ ตื่นเช้ามาแล้วได้รายงานข่าว แค่นี้ เขาก็มีความสุขมากแล้ว

จากการพูดคุยกับคุณเอ็ม ก็พอจะทำให้เราได้ข้อสรุปบางอย่างได้ว่า ในยุคที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น Creator และสามารถเป็นได้ง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่โพสต์แค่คลิกเดียว ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนให้เรากลายเป็น Creator โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเป็น Creator ได้อย่างมืออาชีพและมีคุณภาพ มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ

  1. ต้องมีความต่อเนื่องของการสร้างสรรค์เนื้อหา
  2. ต้องมีการคิดวางแผนคอนเทนต์และรูปแบบเนื้อหา เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่คอนเทนต์อย่างเดียว แต่คอนเทนต์นั้นต้องให้อะไรบางอย่างกับคนอ่าน คนฟัง และต้องโน้มน้าวใจคนได้ด้วย
  3. ต้องมีความรักที่จะทำ เพราะบางครั้งการที่เราเริ่มจากการโฟกัสกับยอดวิวหรือปลายทางมากเกินไป พอผลลัพธ์ที่ได้กลับมาไม่เป็นอย่างที่คาดหวังก็อาจจะทำให้เราท้อและถอดใจได้
  4. ต้องมีทักษะด้านคอนเทนต์ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความรักที่จะทำอย่างเดียวอาจไม่พอ หากเรายังขาดทักษะบางอย่างที่จะทำให้การทำงานที่เราใฝ่ฝันสำเร็จได้

ดังนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการจัดงาน iCreator Conference ที่มองเห็นว่าอยากจะให้คนในวงการ Content Creator ได้มารวมกลุ่ม พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้เหมือนกับวงการสายอาชีพอื่น เพื่อที่จะสร้างคอนเน็กชันระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และ “ในอนาคต การทำคอนเทนต์จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลายๆ ธุรกิจ ผมจึงอยากชวนทุกคนมางานนี้ครับ” คุณเอ็ม ได้กล่าวทิ้งท้าย

ฟังคลิปสัมภาษณ์นี้แบบเต็ม ๆ ได้ทาง Facebook Page CREATIVE TALK

สำหรับใครที่สนใจและอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน iCreator Conference 2020 ได้ทาง Event Pop

เรียงเรียงโดย : สนธยา สุตภักดิ์

Related Articles

Keep Talk and Kerry On กับคุณสีตลา ชาญวิเศษ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานสื่อสารการตลาด เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ผู้เชื่อว่าบริการจัดส่งพัสดุด่วนที่ดีต้องเป็นมากกว่าฟังก์ชัน

‘ส่งไว ส่งชัวร์ ทั่วไทย’ สโลแกนที่ไม่ว่าใครได้ยินต่างก็นึกถึงแบรนด์เคอรี่ ผู้นำด้านการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วไทยสีส้มสดใสที่สะดุดตาทั้งรถส่งของ ที่ตั้งของแต่ละสาขาทั้งภาคพื้นดินหรือบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กระทั่งชุดแต่งกายของพนักงาน  ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ หากใครสัญจรโดยใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส อาจสะดุดตากับขบวนรถสีส้มที่มีประโยคภาษาอังกฤษคำว่า…

Article | Business