ทำไมใช้ Blogger แล้วไม่เวิร์กอย่างที่คิด?…
เชื่อว่าปัญหานี้เกิดกับใครหลายคนที่อยากจะโปรโมทแบรนด์ ทำแคมเปญบางอย่างโดยใช้ Blogger เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญในเชิงการโฆษณา สร้าง Awarness ไปจนถึงการเพิ่มยอดขาย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายปรากฎว่ามันไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คิดไว้
หรือว่า Blogger ที่เราใช้ยังไม่ดังพอ? นั่นก็ยังไม่ใช่เหตุผลของเรื่องนี้เสียทีเดียว อันดับแรกสุดสำหรับคนที่อยากจะทำงานร่วมกับ Blogger ก็คือ เราต้องเข้าใจแบรนด์และธุรกิจของตัวเองก่อน จากนั้นจึงค่อยทำสิ่งอื่น ๆ ตามมาทีหลัง
ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ แต่ต้อง ‘ใช่’ สำหรับเราจริง ๆ
ปัญหาหนึ่งของการทำการตลาดโดยใช้ Influencer หรือ Blogger ก็คือบางคนมองการทำงานร่วมกันกับคนกลุ่มนี้ว่าเป็นแค่ช่องทางหนึ่งในการโฆษณา เลือกใครมาก็ได้ ขอแค่ที่ดูมียอดผู้ติดตามเยอะจำนวนหลักหมื่นหลักพัน ก็คิดว่าเพียงพอเสียแล้วและตัดสินใจโยน Product ไปให้ช่วยโฆษณา หรือช่วยรีวิวเลยทันที โดยที่ไม่ได้ศึกษา Blogger คนนั้นให้ดีเสียก่อน สุดท้ายบางทีผลออกมาคือ คนอาจจะเห็นเยอะ แต่ไม่สามารถนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้
ฉะนั้นแล้ว Mindset คือจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญในการทำงานร่วมกับ Blogger ถ้าถูกต้องเราจะเดินไปถูกทาง อาทิ เราต้องรู้ก่อนว่าเราอยากไปเที่ยวทะเล ไม่ได้ไปเพราะเห็นคนอื่นไปเลยตามกระแสไปเฉยๆ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด เราอาจจะไม่ได้รู้สึกสนุก หรือแฮปปี้อย่างที่คิดเพราะใจเราจริงๆ ไม่ได้อยากไปทะเล
เราต้องเข้าใจในกระบวนการ ขั้นตอนว่าเวลาทำงานร่วมกับ Blogger หน้าที่ของคนกลุ่มนี้เขาช่วยเรื่องอะไร และตัวเราต้องทำอะไรบ้างที่จะทำให้ผลลัพธ์หลังการใช้ Bogger มีประสิทธิภาพที่สุด
นี่คือ 5 เทคนิคที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานร่วมกับ Blogger ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด!
1. รู้จักตัวเองก่อนเล็งหา Blogger ในดวงใจ
ก่อนเริ่มมองหา Blogger มาช่วยโฆษณาให้ ต้องหันกลับมาเข้าใจตัวเองก่อนอีกนิด ว่าแบรนด์และธุรกิจเราเป็นอย่างไร ลูกค้าของเราเป็นใคร กลุ่มเป้าหมายในแคมเปญที่จะเข้าหาคือกลุ่มไหน ถ้าตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ก็อาจจะทำให้เราไขว้เขว และผลลัพธ์ออกมาไม่เวิร์กอย่างที่บอกไปในตอนต้น อาจจะได้แค่ Awarness มาเฉยๆ แต่ยอดขาย กับความรักในแบรนด์อาจไม่ได้ตามมาด้วย
สำหรับการเลือกกลุ่มลูกค้าในการทำแคมเปญ หรือโฆษณาแต่ละครั้ง ไม่ผิดถ้าจะเจาะกลุ่ม Mass แต่ถ้าทำให้แคบลงได้ก็จะดีกว่า จากนั้นค่อยขยายฐานออกไปเรื่อย ๆ ไม่งั้นจะเหมือนเราไปตะโกนโฆษณาท่ามกลางคนกลุ่มใหญ่ใจกลางเมือง อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะสนใจเราในตอนนั้น และส่วนใหญ่ Blogger จะมีฐานแฟนคลับเฉพาะอยู่ ถึงจะผู้ติดตามเยอะ แต่ก็อาจจะไม่ได้ครอบคลุมถึงขนาดนั้น ดังนั้นมันจึงสำคัญว่าถ้าเราจะใช้ Blogger ให้ได้ผล
2. ศึกษา Blogger ให้เข้าใจ ใช่คนที่เราตามหาหรือเปล่า
อย่างที่เราได้กล่าวไปในตอนต้น ว่าของแบบนี้ไม่ใช่แค่ใครก็ได้จริงๆ นะ เพราะ Blogger มีความเป็นปัจเจกชนอยู่ คือมีความเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ ความชอบส่วนตัว รวมถึงกลุ่มแฟนคลับที่เข้ามาติดตามเขาจากไลฟ์สไตล์ของเขา
ในฐานะคนที่จะทำงานร่วมกับ Blogger ต้องไปศึกษาเนื้อหาที่ Blogger นำเสนอก่อน ว่าคอนเทนต์ที่เขาสื่อสารออกไปนั้นเป็นอย่างไร กลุ่มคนที่ติดตามเขาเป็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยมาหาความเข้ากันของเรากับ Blogger ว่ามีตรงไหนที่มันลงล็อคกันบ้าง กลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียวกันไหม เขาสามารถพูดคอนเทนต์ที่เราจะส่งไปให้ได้รึเปล่า
ถ้าส่วนนี้เรายังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเป็นอย่างไร เราควรจะใช้ Blogger คนไหนที่เหมาะกับเรา ต่อให้ Blogger คนนั้นคนติดตามเยอะแค่ไหน ก็มีโอกาสที่แคมเปญ หรือ Product ของเราจะแป้กเหมือนกัน
3. เข้าใจธรรมชาติของ Blogger เน้นประสบการณ์มากกว่า Factsheet
อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่อยากให้ทุกคนที่ต้องการจะทำงานร่วมกับ Blogger เข้าใจธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ Blogger ไม่ใช่สำนักข่าว ไม่ใช่สื่อหลักในการนำเสนอข่าวสารตาม Factsheet ดังนั้นเราจะนำวิธีการเดียวกันมาใช้กับ Blogger ไม่ได้
คนกลุ่มนี้ขาย ‘ประสบการณ์’ และ ‘ความชอบร่วมกัน’ มากกว่า อาทิ นางสาว A เป็น Blogger สายปาร์ตี้ แต่ต้องไปรีวิวโรงแรมที่ขายจุดเด่นที่ความเงียบสงบ ไร้ผู้คน ก็อาจจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายสักทีเดียว เผลอๆ แฟนคลับของเขาก็อาจจะรู้สึกว่ามัน ‘ฝืน’ ดูไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์ปกติของ Blogger คนนี้เลย ดังนั้นการจะใช้ Blogger นั้นเราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขาว่าเขาเป็นคนแบบไหนด้วย ชอบไม่ชอบอะไร ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเป็นแบบไหน อาจดูเป็นรายละเอียดยิบย่อย แต่ถ้าเราไม่รู้เลยก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เช่น ถ้า Blogger คนนั้นเคยบอกว่าไม่ชอบทุเรียน แต่เราเอาผลิตภัณฑ์ผสมทุเรียนไปให้ชิม แล้วเขาเกิดรีวิวว่ามันไม่อร่อย ก็อาจจะไม่ใช่ความผิดของ Blogger คนนั้นเสียทีเดียว
“สินค้าชิ้นนี้มีส่วนผสมของ A, B และ C ค่ะซึ่งส่วนนี้จะ…” กับ “สินค้านี้ดีมากเลย ตอนที่ใช้ก่อนนอนแล้วตื่นมาคือดีจริง”…ส่วนใหญ่คนก็จะรู้สึกเชื่อสิ่งที่รีวิวมากกว่าที่จะมาบอกว่าข้างในมีส่วนผสมหรือโครงสร้างอะไรตาม Factsheet
4. จับจังหวะให้ดี เวลาไหนที่พร้อมจะทำแคมเปญ
เรื่องไทม์ไลน์ของความต้องการ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกับ Blogger ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เราต้องคิดด้วยว่าสินค้าของเรานั้นเป็นสิ่งที่คนเห็นแล้วสามารถจ่ายเงินได้เลยหรือเปล่า หรือว่าต้องรอเวลาในการตัดสินใจหรือรวบรวมเงิน ยกตัวอย่าง ตั๋วเครื่องบิน อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเห็นโปรโมชั่นแล้วกดจองตั๋วได้เลย อาจจะต้องใช้เวลา ส่วนนี้ก็จะนำไปสู่การวางแผนโฆษณา ทำแคมเปญอีกแบบ จากที่ใช้ Blogger คนเดียวจบ อาจจะต้องเป็นการกระจาย Blogger ให้โปรโมทให้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอ คนยังเห็นแคมเปญนี้อยู่เรื่อย ๆ เป็นต้น
5. ปัดกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด ก่อนกลับมารับแขกกลุ่มใหม่ๆ
เหนือสิ่งอื่นใดต้องเตรียมบ้านให้พร้อมต้อนรับแขกด้วย! หลายคนไปโฟกัสกับการทำโฆษณา ทำแคมเปญ มองหา Blogger จนลืมกลับมาจัดการบ้านตัวเองให้เรียบร้อย สิ่งหนึ่งที่เจ้าของแบรนด์ต้องคิดก็คือจะทำยังไงให้เกิดการต่อยอดหลังจากที่ Blogger พาแฟนคลับของเขามาหาเราแล้ว
เว็บไซต์ที่เรามีพร้อมแค่ไหน? ข้อมูลที่อัพเดตล่าสุดคือปีที่แล้วหรือเปล่า? บนหน้าเฟซบุ๊กเราลงแต่เนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไหม? ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องคิด และทำให้แน่ใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีหลังจากทำแคมเปญไปแล้ว ลูกค้าเปิดเว็บไซต์มาเจอเนื้อหาและข้อมูลเดียวกันกับที่ Blogger พูด เปิดมาเจอเว็บไซต์สวย ๆ ที่ใช้งานง่ายเข้าถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้เร็ว เป็นต้น
รู้เขา รู้เรา แล้วต้องรู้จักคนใหม่ๆ ที่เดินเข้ามาด้วย
หลังจากรู้จักตัวเอง และกลุ่มเป้าหมายของเราแล้ว รู้จัก Blogger และธรรมชาติของเขาแล้ว สิ่งต่อมาหลังจากปล่อยแคมเปญออกไป จนมันเกิด Engage ประมาณหนึ่งแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือการเข้าไปทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ถูกเชิญเข้ามาโดย Blogger เหล่านั้น
เหมือนการสร้าง Connection รูปแบบหนึ่ง ว่าพอคนที่เราสนิทแนะนำเพื่อนใหม่ให้เรารู้จักแล้ว จะทำอย่างไรให้เพื่อนใหม่คนนั้นชอบเรา และชอบในแบบที่เราเป็นเราด้วย เช่นเดียวกันกับแฟนคลับของ Blogger เหล่านั้น จากแฟนคลับกลุ่มที่ชื่นชอบ Blogger นั้นจะทำอย่างไรให้เขาชื่นชอบในผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ของเรา
จะทำอย่างไรให้เกิด Call to action เกิดยอดขายต่อจากนี้ คือสิ่งที่เราจะต้องวางแผนต่อด้วย ไม่ใช่แค่ใช้ Blogger แล้วจบไป
สุดท้ายนี้อยากให้นึกเสมอก่อนจะเลือก Blogger ในการทำงาน คือต้องรู้จักตัวเอง, ศึกษา Blogger ที่เราจะใช้, จัดการแพลตฟอร์มของตัวเองให้ดีพร้อมรับแขก และวางแพลนให้ต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรให้เกิด Call to action หลังจาก Blogger โฆษณาออกไปแล้วบ้าง
มาทำให้การทำงานร่วมกับ Blogger ครั้งนี้ของเราเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุดกันเถอะ
เรื่อง : CREATIVE TALK
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข