Trending News

Subscribe Now

7 บทเรียนนอกตำราที่ผู้บริหารระดับโลกอยากบอกคุณ

7 บทเรียนนอกตำราที่ผู้บริหารระดับโลกอยากบอกคุณ

Article | Entrepreneur

ตลอดชีวิตการสอนบริหารธุรกิจของศาสตราจารย์ ‘Clayton M. Christensen’ อาจารย์ประจำ ‘Harvard Business School’ ผู้เขียนหนังสือ ‘The Innovator’s Dilemma’ และ ‘How Will You Measure Your Life?’ ได้ตกผลึกออกมาเป็นแนวทางการบริหารชีวิตของผู้ประกอบการ ที่นอกจากจะต้องตั้งคำถามยากๆ กับตัวเอง เพื่อค้นหาคำตอบและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดีกว่าเดิมแล้ว ยังต้องหมั่นค้นหาความหมายของชีวิตควบคู่กันไปด้วย

CREATIVE TALK รวบรวม 7 บทเรียนนอกตำราที่ผู้บริหารระดับโลกอยากบอกคุณ ให้คุณเก็บไปคิดตาม มีดังต่อไปนี้ 

1. อย่าทำงานจนละเลยชีวิตและความสัมพันธ์ – ‘Satya Nadella’

สัตยา นาเดลลา

เมื่อคุณกลายเป็นผู้ประกอบการ ภาระงานมักแยกไม่ขาดออกจากชีวิตคุณ ผู้นำยุคใหม่จึงเลือกวิธี Work-Life Effectiveness เลือกใช้พลังงานที่เข้มข้นให้เหมาะสมกับจังหวะสำคัญๆใน แต่ละช่วงชีวิต เพื่อจะมีกำลังใจไปทำงานที่คุณรักต่ออย่างมีความสุข

Satya Nadella (สัตยา นาเดลลา) ซีอีโอบริษัท ‘Microsoft’ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ‘Vanity Fair’ ไว้ว่า เวลาอยู่กับครอบครัว เขาจะอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน โดยใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพที่สุด ไม่วอกแวกให้กับเรื่องนอกบ้าน นั่นคือคำตอบของสมการชีวิตที่ลงตัวสำหรับเขา


2. ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า – ‘Tim Cook’

ทิม คุก

ถึงจะผิดแผนหรือผิดพลาดก็ไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวเสมอไป คุณจะได้เรียนรู้ว่าอะไรที่มันไม่เวิร์ก แล้วลองหาทางดูใหม่ เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จ ถ้าปราศจากความท้าทายเหล่านั้น เราก็จะไม่มีทางก้าวหน้าไปไหนไกลได้เลย

Tim Cook (ทิม คุก) ซีอีโอบริษัท Apple คนล่าสุด เคยกล่าวปัจฉิมนิเทศให้แก่บัณฑิตจาก Auburn University เมื่อปี 2010 ว่า

“เมื่อพูดถึงความสำเร็จ เราคงจะละเลยความล้มเหลวไปไม่ได้ ผมแน่ใจว่าไม่มีใครทำสำเร็จได้หากไม่ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความท้อแท้ และความผิดหวัง… หลังจากออกเดินบนเส้นทางสายนี้ ผมจดจำทุกช่วงเวลาในชีวิตที่แสนสาหัส ซึ่งทำให้เราแข็งแกร่งและเฉียบคมขึ้น อย่างที่สำนวนผู้เฒ่ากล่าวว่า ผ่านเป็นเพชร นั่นจริงทีเดียวสำหรับผม และผมเองก็แน่ใจว่าใครก็ตามที่ถือคตินั้นอยู่จะทำได้จริงเช่นเดียวกัน”


3. ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด – ‘Sundar Pichai’

ซันดาร์ พิชัย

“ทิศทางที่ดีที่สุด คือ พยายามเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้มากที่สุด” Sundar Pichai (ซันดาร์ พิชัย) ซีอีโอ ‘Alphabet’ ยังกล่าวอีกว่า “ที่ Google เรามีจุดมุ่งหมายจะทำทุกวิถีทางให้งานเข้าใกล้ความสำเร็จแบบที่เรียกว่าติดจรวด (Moonshot)” 

ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีหลายคนมีพื้นฐานจบทางวิศวกรรมด้วย พวกเขาจึงมักนำหลัก Agile และ Design Thinking มาใช้เป็นแนวคิดสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมักจะสนับสนุนให้เร่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากไอเดียให้เร็วที่สุด แล้วปรับปรุงแก้ไขตามผลสำรวจจากผู้ทดลองใช้จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงต้องมีความพร้อมจะปรับเปลี่ยนกระบวนท่าอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลยุทธ์ธุรกิจและแผนการตลาด เพราะไม่มีคำตอบสุดท้ายหรือแนวทางสำเร็จรูปในการทำธุรกิจที่ใช้ได้ผลเสมอไป


4. ยึดหลักเกณฑ์พื้นฐานไว้เสมอ – ‘Howard Schultz’

ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ

ไม่ว่าคุณจะเกิดไอเดียแหวกแนว อยากลองลุยทำโปรเจกต์ในฝันนั้นดูสักตั้ง ก็ควรผ่านหลักเกณฑ์พิจารณาเบื้องต้นก่อนว่ามันคุ้มเสี่ยงหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ได้ผลเหมือนกันแต่เสี่ยงน้อยกว่ารึเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่าทุกการตัดสินใจของคุณจะไม่ผิดพลาดโดยประมาท

Howard Schultz (ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอร้านกาแฟแฟรนไชส์ระดับโลกอย่าง Starbucks กล่าวว่า สิ่งที่ทรงพลังที่สุดคือหัวใจดั้งเดิมของแบรนด์ เขากล่าวไว้ในหนังสือ ‘Pour Your Heart Into It: How Starbucks Built a Company One Cup at a Time’ ของเขาเอง


5. แข่งด้วยจุดแข็งของคุณ – ‘Ginni Rometty’

จินนี โรเม็ตตี

อย่าคิดแต่จะห้ำหั่นแแข่งขันกับคู่แข่งโดยลืมคำนึงถึงความถนัดของเรา เพราะนั่นอาจทำให้คุณตกหลุมพลางความคิดของตัวเองก็เป็นได้ และมีแนวโน้มว่าจะเสี่ยงขาดทุนได้มากกว่า

Ginni Rometty (จินนี โรเม็ตตี) ซีอีโอบริษัท IBM กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำคือ ไม่ให้ใครมาบอกว่าคุณคือใคร แต่สร้างจำกัดความขึ้นมาด้วยตัวเอง เหมือนที่ฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นซีอีโอหญิงของบริษัทแห่งนี้ แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนในองค์กรยักษ์ใหญ่”


6. ผู้นำไม่คอยบงการ – ‘Mary T. Barra’

แมรี่ บาร์ร่า

การแสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นภาพเป้าหมายร่วมกันขององค์กรอย่างชัดเจน และบริหารจัดการคนที่หลากหลายด้วยความเข้าอกเข้าใจ เป็นศิลปะของผู้นำที่ดี

วิถีของซีอีโอต้องไม่ใช่ผู้ชี้นิ้วคอยควบคุมวิธีการทำงานของคนในองค์กรทุกขั้นตอน แต่ต้องเป็นผู้คอยมองภาพรวม สร้างพลังขับเคลื่อน และอำนวยความสะดวกให้ทุกคนในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจตามเป้าหมายขององค์กร

Mary T. Barra (แมรี่ บาร์ร่า) ซีอีโอหญิงแห่งบริษัทรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ‘General Motors’ กล่าวว่าเธอสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นเจ้าของผลงานร่วมกัน ไม่ว่าใครอยากได้ความช่วยเหลือตรงไหน ทีมก็ต้องพร้อมกระโจนลงไปช่วยระดมสมองและร่วมแรงกันช่วยเหลือให้งานนั้นสำเร็จลงได้


7. ตั้งมั่นในอุดมการณ์ – ‘Sheryl Sandberg’

เชอริล แซนเบิร์ก

ผู้นำที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตนั้นมักปรารถนาจะสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น  อย่างเช่น Sheryl Sandberg (เชอริล แซนเบิร์ก) เธอดำรงตำแหน่งเป็น COO ของ Facebook สาเหตุที่เธอเลือกเรียนบริหารธุรกิจก็เพราะเมื่อตอนเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ World Bank เธอได้เข้าร่วมโครงการรณรงค์เรื่องสาธารณสุขที่ประเทศอินเดีย

ซึ่งเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม เมื่อได้สัมผัสกับสุขภาวะของชาวบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐานเสียจนทำให้เธอตั้งปณิธานว่าจะต้องเข้าทำงานที่องค์กรระดับโลก เพื่อจะมีพลังมาขับเคลื่อนสังคม สามารถระดมทุนมาช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง

เรื่องโดย : พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ
ภาพโดย : พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ

ข้อมูลอ้างอิง

Related Articles

นั่งทำงานอย่างไร ไม่ให้ออฟฟิศซินโดรม

เราใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน และอาจเพิ่มมากกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ หากวิทยาการก้าวไกลจนทำให้อายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น

Article | Living

9 เทคนิค นำประชุมอย่างไร ให้จบไวและได้เนื้อหา

ประชุมอย่างไรให้ได้เนื้อหา ทริกนี้ เป็นสิ่งที่ได้ทดลองเองและสังเกตมาจากคนที่นำประชุมดี ๆ และได้อ่านมาจากบทความด้วย ซึ่งมีอยู่ 9 ข้อหลัก ๆ คือ…

Entrepreneur | Podcast | The Organice