‘The European Collaborative Creativity Conference’ เผยงานวิจัยปี ค.ศ. 2019 ทางด้าน Neuroscience’ ยืนยันข้อพิสูจน์ที่ว่า มีไอเดียแล้วต้องลงมือทำ ถึงจะนับว่าเป็น ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เรื่องควรทำเราเคยพูดกันไปเยอะแล้ว CREATIVE TALK เลยหา 5 เรื่อง “อย่าหาทำ” มาให้ใครที่อยากฝึกเป็นคนคิดครีเอทีฟ ไว้เตือนใจตัวเองให้ระวังสิ่งที่จะพบในระหว่างทาง ที่กำลังสร้างสรรค์ผลงาน จะต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง ที่อาจทำให้คุณทำไม่สำเร็จ
1. อย่านอนชดเชย เพราะอดนอนมันไม่ดี
พฤติกรรม ‘การอดนอน’ แล้วมานอนชดเชยในวันถัดมานั้น มีแต่ทำให้สมองของคุณเฉื่อยชาลง และอาจสะสมเป็นปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้เรานอนให้เต็มอิ่มอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง จึงจะดีต่อสมองของคุณมากกว่า
นักจิตชีววิทยา ‘Otto Loewi’ ศึกษาพบว่า ในระหว่างที่เราหลับ เซลประสาทจะสื่อสารกัน เกิดปฏิกิริยาเคมีในสมองขึ้นมา หรือที่เรียกว่า ‘สารสื่อประสาท’ (Neurotransmitters.) ซึ่งช่วยชำระล้างมลภาวะทางอารมณ์ ไม่ให้สะสมสารตกค้างในสมองที่ก่อให้เกิดความเครียด
ถ้าใครอยากตื่นเช้ามาแล้วสดชื่น พร้อมจะผลิตไอเดียสดใหม่ในวันรุ่งขึ้น ต้องฝึกหมุนนาฬิกาชีวิตของคุณใหม่ ให้กลับมาเข้าจังหวะเวลาเดิมในทุกวัน จนกลายเป็นนิสัยดีติดตัว
ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังส่งให้ ‘Otto Loewi’ ได้รับรางวัล ‘Nobel Prize’ สาขา Medicine ในปี ค.ศ. 1936 อีกด้วย
ในขณะที่ ‘การงีบหลับระหว่างวัน’ กลับมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด เพราะในยามที่เรารับข้อมูลจำนวนมหาศาลจนโอเวอร์โหลด สมองประมวลผลตามไม่ทัน ให้ลองนอนพักสักงีบ (ประมาณ 1-2 ชม.) เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว สมองของคุณจะมีพลังคิดไอเดียดีๆ หรือคิดวิธีแก้ปัญหาออกได้ดีกว่าฝืนทนนั่งคิดจนหัวแทบแตก
งานวิจัยหลายชิ้นยังช่วยสนับสนุนว่า กระบวนการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์นั้น จะเกิดขึ้นในระหว่างที่คุณ ‘หลับลึก’หรืออยู่ในความฝันชั้น REM ซึ่งสมองจะประมวลผลสิ่งที่คุณเรียนรู้มาในแต่ละวัน เก็บเข้าลิ้นชักความทรงจำ เพื่อที่ในอนาคตคุณจะสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ เข้ากับความรู้เดิมที่คุณมี ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ จึงจะจนสามารถคิดแก้ปัญหาได้ไวและเฉียบคมขึ้น
ตัวอย่างเช่น ‘James Watson’ นักวิจัยที่หลงใหลในงานการศึกษาชีววิทยามนุษย์ จนนำกลับไปฝันซ้ำๆ พิสูจน์ว่าแม้แม้ระหว่างที่เาหลับ สมองของเราก็ยังทำงานไม่หยุด และทำให้เขาค้นพบโครงสร้างของ DNA ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 2012
สมองของมนุษย์เราน่าทึ่งและซับซ้อนมากเลยใช่ไหมล่ะ รู้แบบนี้แล้วเพื่อนๆ ก็อย่าลืมบำรุงสมองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอจะดีกว่านะ ถ้าไม่ไหวก็อย่าฝืน
2. อย่ายึดติด ตัดใจทิ้งบ้าง
ลองหัดใช้ชีวิตตามวิถีน้อยแต่มากอย่าง ‘ชาวมินิมัลลิส’ (Minimalist) ดูสิ เพราะเราทุกคนควรมี ‘ทักษะตัดใจทิ้ง’ ทั้งกับสิ่งของ ‘รกบ้าน’ และเรื่องราว ‘รกใจ’ ที่ทำให้คุณจำต้องแบกภาระเกินจำเป็น อย่าใช้เวลาไปกับเรื่องจุกจิกมากจนเกินไป
ถ้าทำได้ก็ควรมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพให้ช่วยจัดการ เพื่อคุณจะมีเวลาทำเรื่องสำคัญๆ ในชีวิต สร้างคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและผู้อื่น ตามความเชี่ยวชาญของคุณจะดีกว่า
3. อย่าเพิ่งคิดนอกกรอบ เพราะในกรอบก็ไม่เลวนะ
‘Charles Mingu’ ศิลปินเพลงแจ๊ซ เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่สามารถด้นสดได้หรอก ถ้าไม่มีพื้นฐานทางดนตรีที่แน่นพอ” (You can’t improvise on nothing, man; you’ve gotta improvise on something.)
เราต่างเข้าใจว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือ การคิดนอกกรอบ แต่จริงๆ แล้วโดยพื้นฐาน เราต่างต่อยอดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น
การศึกษาวิจัยจาก ‘Rider University’ พบว่า ‘ข้อจำกัด’ หรือโจทย์ช่วยเร่งให้เกิด ‘ความคิดสร้างสรรค์’มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะไอเดียที่กว้างเกินไป จะทำให้คุณคิดอย่างสะเปะสะปะ และหลงทางได้ง่ายๆ ถ้าเทียบกับคนที่รู้เป้าหมาย ปัญหา และเงื่อนไขที่ชัดเจน พวกเขาจะมุ่งหาคำตอบ และพบผลลัพธ์ได้ไวกว่า
4. อย่ากลัวไปก่อน ลองก่อนดีกว่า
‘Elizabeth Gilbert’ ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง ‘Eat Pray Love’ และ ‘Big Magic: Creative Living Beyond Fear.’ บอกว่ายิ่งคุณสร้างสรรค์และแตกต่าง คุณจะยิ่งเกิดความกลัวท่วมท้น จนไม่กล้าเสี่ยงทำตามจินตนาการ และอาจล้มเลิกความตั้งใจลงได้ง่ายๆ
อย่าเพิ่งคิดว่างานทุกชิ้นของคุณจะต้องยอดเยี่ยม ดีงาม และไร้ข้อตำหนิ เป็นเรื่องปกติ ที่จะเกิดจุดบกพร่องในงานทดลองหรือร่างแรกๆ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องก้าวข้ามความกลัวคำวิจารณ์ไปให้ได้
ขอให้ตั้งใจสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาจนเป็นชิ้นเป็นอันให้ได้ก่อน เพราะไม่มีผลงานสร้างสรรค์ชิ้นไหน ที่จะประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน นักสร้างสรรค์ต่างต้องผ่านความผิดหวัง ฝีมือห่วยแตก ถูกปรามาส และเคยไม่ได้รับการยอมรับมาก่อนทั้งนั้น
5. อย่าให้ใครมาขโมยเวลาไปจากคุณ!
‘Beeman’ และ ‘Kounios’ สองนักวิจัยค้นพบว่า สมองของเราไม่สามารถใช้ในส่วนตรรกะ และความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กันได้ คุณจึงจำเป็นต้องมีเวลาพักเพื่อสลับโหมดสมอง เพิ่มพื้นที่ว่างให้ความคิดสร้างสรรค์ได้เบ่งบาน
ถ้ามัวแต่ยุ่งวุ่นวายจัดการกับงานประจำวัน หรือยอมรับมอบหมายงานที่ไม่มีความหมายกับคุณ มาอย่างไร้ขอบเขตและเงื่อนไข เท่ากับว่าคุณได้อนุญาตให้คนอื่นขโมยเวลาของคุณไปง่ายๆ
ถ้าเป็นไปได้ให้คุณประเมินเวลาการทำงานและลำดับความสำคัญให้ดีๆ เพื่อจะต่อรองผัดผ่อนงานส่วนเกินออกไปบ้าง แล้วคุณจะมีเวลาสร้างผลงานที่สำคัญต่อตัวคุณ และสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากกว่า และตามแผนที่กำหนดไว้
การได้มีเวลานิ่งคิดแบบเผลอๆ จะเกิด ‘aha moment’ ที่ทำให้คุณตกอยู่ในภวังค์ สังเกตสิว่าไอเดียเจ๋งๆ มักจะผุดขึ้นมาเองโดยที่คุณไม่ได้ตั้งใจเสมอๆ แหละ
แหล่งอ้างอิง: