ความรกรุงรังเกี่ยวอะไรกับการไปให้ถึงเป้าหมาย???
ถ้าพูดถึงคำว่า “กองขยะ” ในการทำงาน คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงของที่จับต้องได้อย่าง กองกระดาษ กองหนังสือ หรือกองสิ่งของที่วางระเกะระกะในออฟฟิศ แต่จากข้อมูลของ Barbara Hemphill ผู้เขียนหนังสือ “Less Clutter, More Life” และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Productive Environment Institute ได้กล่าวว่า “กองขยะ” มี 4 ประเภท
- สิ่งของจับต้องได้
- สิ่งของที่เป็นดิจิทัล
- อารมณ์
- จิตใจ
โดยที่กองขยะที่จับต้องได้และดิจิทัลเป็นแหล่งกำเนิดกองขยะทางอารมณ์และจิตใจได้
Barbara Hemphill พบว่าคนส่วนใหญ่ที่ชอบสะสมสิ่งของจนกลายเป็นกองพะเนินส่วนใหญ่เกิดจาก “ปัญหาทางอารมณ์” เช่นเดียวกับหลักฐานทางจิตวิทยาที่พบว่าคนที่ชอบสะสมสิ่งของจนเกินพอดีเป็นอาการผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Hoarding Disorder” (โรคเก็บสะสมของ) อาการที่เสียดาย ไม่กล้าทิ้งอะไรเลย เพราะยึดติดว่าทุกอย่างล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้คุณคิดว่าคุณยังไม่ได้อาการหนักถึงขั้นเป็นโรค แต่น้อยคนจะรู้ว่า “กองขยะ” เหล่านี้ต่างก็มีผลต่อ ระดับความวิตกกังวล การนอนหลับ และที่สำคัญ “ประสิทธิภาพ” ในการทำงาน และนั่นส่งผลต่อการพิชิตเป้าหมายได้ หลายๆ งานวิจัยพบว่า กองขยะ หรือข้าวของที่ระเกะระกะนั้นสร้างความยุ่งเหยิงให้กับการรับรู้ ลดประสิทธิภาพความจำที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงการโฟกัสกับการทำงานด้วย
Barbara Hemphill แนะนำให้คุณลองถามคำถามกับตัวเองว่า “การมีสิ่งของเหล่านี้ (ไม่ว่าจะแบบจับต้องได้ หรือ แบบดิจิทัล) จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่” หากคำตอบคือไม่ สิ่งนั้น คือ “กองขยะ” และการกำจัดกองขยะเหล่านั้น คือ การช่วยให้คุณเห็นเป้าหมายที่แท้จริง
3 ขั้นตอนขจัดกองขยะ
Barbara Hemphill ได้กล่าวไว้ว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมขยะ
- ขาดการเอาใจใส่
- ขาดระบบจัดการที่ดี
- ขาดคนช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการกับความยุ่งเหยิง ก็คือการจัดการ 3 ปัจจัยนี้
เอาใจใส่
หลายๆ คนขาดการเอาใจใส่ โดยเฉพาะการเอาใจใส่สิ่งที่สำคัญที่สุด ในแต่ละวันบางคนจัดการเรื่องหยุมหยิมอื่นก่อนและละเลยสิ่งที่ต้องทำ รู้ตัวอีกทีก็ไม่ได้จัดการสิ่งที่ควรจัดการไปแล้ว และนั่นเป็นบ่อเกิด “กองขยะ” ไม่ว่าจะจับต้องได้ หรือไม่ได้ ดังนั้นก่อนอื่นคุณต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ และให้เหตุผลด้วยว่า “ทำไม” มันถึงสำคัญ จากนั้นพยายามทำสิ่งที่ต้องทำให้ “สำเร็จ” ก่อนจะที่จะย้ายตัวไปทำสิ่งอื่น
สร้างระบบ
การตัดสินใจที่จะทำเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้ยั่งยืน คุณต้องหาทางจัดการให้เป็นระบบระเบียบ เช่น เมื่อคุณตั้งโต๊ะทำงานของคุณแล้ว คุณจะต้องตั้งระบบการจัดการด้วย ซึ่งระบบของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน Barbara Hemphill ใช้หลักการ “Magic 6” มาช่วย ด้วยการจำกัดของใช้เพียงแค่ 6 อย่างที่ต้องใช้ในการทำงานและช่วยจัดการกับเอกสารต่างๆ บนโต๊ะ
หาตัวช่วย
สุดท้ายแล้วเราอาจกำจัดขยะด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ บางครั้งเราต้องการคนรอบข้างในการช่วยเหลือ (แต่ไม่ใช่โยนให้พวกเขาทำ เพราะนั่นไม่ต่างจากการปาขยะใส่เพื่อนบ้าน) การขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นทางการกระทำ ไอเดีย หรือ ความคิดจากคนรอบข้างเป็นเรื่องจำเป็น และการขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องผิด อย่าไว้ใจว่าตัวเองจะทำได้
สุดท้ายแล้ว Barbara Hemphill ได้กล่าวไว้ว่า กองขยะเกิดจากการตัดสินใจที่ล่าช้า และนั่นทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้ที่ไม่จำเป็นในการเก็บขยะเหล่านั้นเอาไว้ เวลาที่เสียไปกับการค้นหาอะไรบางอย่าง ที่สำคัญที่สุดมันยังขัดขวางการพิชิตเป้าหมายของคุณด้วย เพราะทัศนวิสัยที่โล่ง ปลอดโปร่ง เป็นระเบียบไม่ว่าจะทางสายตา หรือทางใจ ต่างก็ช่วยให้คุณโฟกัสกับการพุ่งชนเป้าหมายได้ง่ายกว่าทัศนวิสัยที่รก เต็มไปด้วยขยะนั่นเอง
ที่มาของข้อมูล