Trending News

Subscribe Now

3 วิธี เอาชนะการติดโซเชียล!

3 วิธี เอาชนะการติดโซเชียล!

Article | Living

เข้าใจจิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมที่ทำให้เราหลุดจากจอไปไหนไม่ได้

ลองนึกภาพดูง่ายๆ ว่า คุณเพิ่งเริ่มต้นวันทำงาน และเพิ่งได้กางโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จเร็วๆ นี้ แต่แล้วเพื่อนคนหนึ่งส่งอะไรสักอย่างมาในแชท คุณหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู จากนั้นก็เช็กโซเชียลมีเดียต่อ ตอนแรกคุณคิดว่าจะใช้เวลาแค่ 2-3 นาทีดูวิดีโอในฟีด แต่พอรู้ตัวอีกที เวลาทำงานเกือบชั่วโมงของคุณก็ผ่านไปแล้ว แต่กองงานยังวางทิ้งอยู่ที่เดิมโดยไม่รับการสนใจ…

แม้ความเป็นจริงเราต่างอยากใช้เวลาของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน แต่ผลการศึกษากลับพบว่า 77% ของพนักงานนั้นใช้โซเชียลมีเดียในเวลางาน และใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากถึง 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน

และจากการวิจัยกับนักเรียนและคนทำงานในสหรัฐฯ กว่า 6,000 คน ทำให้พบ 3 ปัจจัยที่ทำให้คนเราเลือกที่จะดูวิดีโอและรูปภาพในโซเชียลต่อไปเรื่อยๆ แทนที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ได้แก่ 1. ปริมาณของสื่อที่ได้รับชมไปแล้ว 2. ความคล้ายคลึงกันของสื่อที่ได้ดู และ 3. พฤติกรรมในการเสพสื่อเหล่านั้น 

หากตั้งสมมติฐาน เราอาจคาดว่า หลังจากดูวิดีโอไปแล้ว 5 คลิป เราน่าจะเบื่อ และทำให้ความอยากดูลดลง แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะการรับชมวิดีโอ 5 คลิปต่อเนื่องกัน ทำให้เรามีแนวโน้มในการเลือกดูวิดีโอเพิ่มมากขึ้นอีก 10% นอกจากนั้นการที่แอปพลิเคชันจัดเรียงวิดีโอที่มีประเภทของเนื้อหาใกล้เคียงกัน ยังทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเลือกดูวิดีโออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันนี้ด้วยอีก 21% 

บรรดารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของลำดับและประเภทของคอนเทนต์ที่เราเลือกเสพ ล้วนสามารถสร้างผลกระทบใหญ่ๆ ต่อการตัดสินใจเลือกเสพคอนเทนต์เดิมๆ ได้ แต่อะไรคือสิ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดผลกระทบนี้?


ปัจจัยที่สร้างผลกระทบในการเลือกเสพคอนเทนต์อาจหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘การเข้าถึง’ หรือ accessibility เพราะเมื่อคอนเทนต์ให้ความรู้สึกเข้าถึงง่าย การเสพคอนเทนต์ก็ง่ายขึ้นตามไปด้วย พาให้เรามีส่วนร่วมอย่างเพลิดเพลิน และเลือกที่จะอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียต่อไป เพราะการเสพสื่อที่มีความเชื่อมโยงกันนั้นมันเป็นความรู้สึกที่ ‘ใช่’ 

นี่เองทำให้เข้าใจว่าทำไมคนเราถึงวอกแวกกับโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Youtube, TikTok หรือ Instagram ในเวลาทำงานง่ายดายนัก เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นมา โดยมี ‘กับดัก’ ให้ผู้ใช้ถูกดึงเข้าไปสู่โลกเสมือน ด้วยคอนเทนต์ที่ย่อยง่าย ดูเพลิน เสพได้ง่ายและรวดเร็ว  อีกทั้งยังมีฟังก์ชันแนะนำคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงแบบอัตโนมัติด้วย ซึ่งถือเป็นการลดการรบกวน ช่วยให้เข้าถึงได้ง่าย จนทำให้คนดูยากที่จะเป็นอิสระจากมัน และยากที่จะกลับออกมาทำสิ่งที่กำลังทำอยู่

แต่ยังพอมีวิธีที่จะรับมือกับปัญหานี้อยู่บ้าง ด้วยการทำความเข้าใจในธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย โดยลองสังเกตว่า เวลาที่รับชมคลิปวิดีโอ หรือดูรูปภาพหลายๆ โพสต์ ซึ่งเป็นเนื้อหาในหมวดหมู่หรือประเภทเดียวกัน และไม่ถูกรบกวนระหว่างดูคอนเทนต์นั้นเลย มักมีแนวโน้มว่าเราจะถูกดูดเข้าไปในโลกโซเชียลได้ง่าย ดังนั้นเพื่อเอาชนะพฤติกรรมเหล่านี้ มีข้อแนะนำมาฝาก


‘3 วิธีเอาชนะการติดโซเชียลมีเดีย’ 

  1. พยายามดูวิดีโอเพียงคลิปเดียว จากปกติที่เคยดูหลายคลิปในคราวเดียว
  2. ถ้าอยากดูวิดีโอหลายคลิป ให้เลือกวิดีโอที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือไม่เลือกดูวิดีโอที่มีเนื้อหาประเภทเดียวกันอย่างต่อเนื่อง 
  3. พยายามหาทางให้ตัวเองถูกรบกวนแบบจงใจในระหว่างดูคอนเทนต์

นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์มากมายที่จะช่วยให้เราหยุดวงจรนี้ได้ เช่น การตั้งเวลาเพื่อจำกัดการเล่นโซเชียลมีเดีย การแปะโน้ตเอาไว้เพื่อเตือนไม่ให้ดูวิดีโอมากเกินไป คอยดึงสติตัวเองให้บริโภคคอนเทนต์ในรูปแบบที่ต่างกันบ้าง 

เพราะท้ายที่สุดแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่วิดีโอที่เราดู หรือโพสต์ที่เราอ่าน แต่ปัญหาอยู่ที่การบริโภคสื่อเหล่านี้มากเกินไป จนทำให้เราหลุดโฟกัสจากการทำในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ และแม้ว่าการเอาชนะพฤติกรรมและนิสัยของตัวเองจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณจัดการตัวเองให้เป็นอิสระจากการติดโซเชียลมีเดียได้แล้ว คุณจะกลับมาทำในสิ่งที่อยากทำและควรทำจริงๆ ได้


ที่มาของข้อมูล The Psychology of Your Scrolling Addiction


เรื่อง:  ป่าน – อดามาส
Content Creator ผู้ชอบงานเขียนมากกว่าทุกสิ่ง และชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่หาคำตอบไม่ค่อยเจอ

Related Articles

ความคิดสร้างสรรค์แบบไหนจะอยู่ได้ตลอดกาล

“ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหมดอายุ” คำนี้มีอยู่จริงหรือไม่ หนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ย แบไต๋ไฮเทค พร้อมแล้วที่จะมาเล่าเรื่องราวบนเส้นทางการทำงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ตลอด 23 ปีว่า ทำอย่างไรให้ความคิดสร้างสรรค์สดใหม่อยู่เสมอและอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต

Article | Creative/Design

อ่านรูปภาพไว วิเคราะห์ได้หลายภาษา สรุปฟีเจอร์สุดปัง ดุดัน ไม่เกรงใจใครของ GPT-4

ช่วงนี้ ไม่ว่าใครก็ต้องเห็นข่าวของ ChatGPT กันเต็มหน้าโซเชียลมีเดีย เพราะพี่แกถือเป็น AI ตัวท็อปที่มา แรงไม่น้อยหน้าใคร

Article | Technology

อย่าว่าแต่อ่านให้ได้หลายเล่มเลย อ่านให้จบสักเล่มก่อนดีกว่า – รวมเทคนิคทำลายกองดอง อ่านหนังสือยังไงให้จบ!

เชื่อว่ามีหลายคนเป็นนักดองหนังสือ และอาจดองหนังสือที่ซื้อมาตั้งแต่สมัยที่งานหนังสือที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ยังไม่ปิดปรับปรุง

Article | Living | Nice to Read You