CREAIVE TALK ชวนคุณยุทธนา ศรีสวัสดิ์ หรือ อ.มิกกี้ CEO of iTAX และรองคณะบดีประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มาคลายข้อสงสัยเรื่องกฎหมายที่ดิน ให้ทุกคนหลีกเลี่ยงปัญหากับเพื่อนบ้าน มาติดตามกันต่อใน CT in Law ใครถูกใครผิด? Ep.5 “ดราม่ารอบบ้าน”
เคสที่ 1 มะม่วงจะตกเป็นของใคร? เมื่อผลไม้ข้างบ้านหล่นลงมาที่บ้านเรา
ข้อสันนิษฐานแรก มะม่วงน่าจะเป็นของเจ้าของที่ดิน แต่ทว่าหากมีข้อเท็จจริงมาหักล้าง ว่ามะม่วงนั้นตกมาจากต้นของข้างบ้าน ก็เท่ากับว่ามะม่วงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของมะม่วงต้นนั้น
ในอีกกรณี ถ้ากิ่งไม้ของข้างบ้านล้ำเข้ามายังบ้านเรา ก่อนจะตัด เราอาจต้องแจ้งเจ้าของต้นไม้ให้จัดการ หรืออนุญาตให้เราดำเนินการแทน โดยกฎหมายให้เวลาตามสมควร เพื่อดำเนินการให้เรียบร้อยตามแต่ตกลงกัน
แต่ถ้าหากเป็นรากไม้ล้ำรั้วเข้ามา กระทบกระเทือนโดยตรงต่อโครงสร้างบ้าน เราสามารถจัดการถอนรากนั้นออกได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าของต้นไม้โดยไม่มีความผิด เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
เคสที่ 2 ที่ดินของเราจะตกเป็นของเขาโดยปริยายได้ยังไง?
หากว่ามีคนมาปลูกบ้านโดยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของเราโดยสุจริต (ไม่ได้ตั้งใจ) อย่างสงบและเปิดเผยเจตนาแสดงความเป็นเจ้าของอาณาบริเวณนั้น หากไม่มีผู้ใดฟ้องร้องดำเนินคดี หรือมาเรียกร้องสิทธิ์ถือครองที่ดินนั้นเป็นเวลา 10 ปี ติดต่อกัน จะถือว่าผู้รุกล้ำได้กรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนั้นได้เลย โดยสามารถดำเนินการขอโฉนดจากสำนักงานที่ดินได้ทันที ซึ่งในกรณีนี้เรียกว่า ‘ครอบครองปรปักษ์’
เคสที่ 3 ขายที่ดินติดภาระจำยอมได้หรือไม่?
เจ้าของโฉนดเดิมเคยจดทะเบียนภาระจำยอม อนุญาตให้คู่กรณีใช้ที่ดินบางส่วนผ่านเข้าออกบ้าน เพื่อแก้ปัญหาที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้าออก และหากว่าจะขายที่ดินนั้นต่อสามารถทำได้ โดยเจ้าของใหม่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการจดทะเบียนใหม่ และไม่สามารถเก็บค่าเช่าที่ดินบริเวณนั้นจากคู่กรณีได้ นอกเสียจากว่าคู่กรณีไม่ได้ใช้เส้นทางนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถึงจะถือว่าสิ้นสุดภาระจำยอม
คุณสามารถติดตามรายการสด CT in Law ใครถูกใครผิด? ทุกคืนวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น. บน Clubhouse