Trending News

Subscribe Now

ประตูมนุษย์

ประตูมนุษย์

Article | Entrepreneur

ประตูหมุนที่เคยใช้แล้ว แต่ต้องยกเลิกใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กลับเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องเดินผ่านทุกวันในนิวยอร์ก

 

การสังเกตคนเดินอย่างรวดเร็วผ่านประตูหมุนบอกอะไรเราได้บ้าง?
บอกได้.. การเดินของคนบอกได้แม้กระทั่งแนวโน้ม “เศรษฐกิจประเทศ”

 

ย้อนกลับไปประมาณช่วงปี 1999 ก่อนที่ตึก World Trade Center จะถล่ม ผมอาศัยอยู่ในย่านแบตเตอรี่ พาร์ค สวนสาธารณะขนาดเล็กที่อยู่ริมแม่น้ำฮัดสัน ในมหานครนิวยอร์ก ทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมาจะพบกับเทพีเสรีภาพที่ยืนอยู่กลางน้ำไกลออกไป แต่ก็ไม่ไกลเกินกว่าสายตาจะมองเห็นในวันที่อากาศดี แม้ว่าวิวจะดี แต่ในสัปดาห์หนึ่งจะมีโอกาสมองเห็นเทพีฯ เพียงไม่กี่ครั้ง เพราะทุกเช้า ผมต้องรีบลุกขึ้นแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว และรีบออกจากบ้านเพื่อไปทำงานให้ทันทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เส้นทางการเดินไปทำงานต้องผ่านตึก Financial Center ก่อนที่จะเชื่อมต่อไปยังตึก World Trade Center ที่ขึ้นชื่อ แน่นนอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่ผมคนเดียว แต่มีคนอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คนที่ต้องเดินเท้าเหมือนกันและใช้เส้นทางนี้

 

ทุกคนรีบเร่ง ไม่เฉื่อย และคำว่าเร่ง ไม่ใช่เร่งธรรมดา แต่เร่งมาก ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ซอยเท้ายิก ๆ เพื่อก้าวให้ทันก้าวใหญ่ ๆ
ของคนอเมริกัน เชื่อเถอะถ้าคุณได้มาเดินที่นี่ในช่วงเช้า คุณก็ต้องเร่งฝีเท้าเช่นกัน ไม่ใช่เพราะเราขยันหรืออะไรหรอกนะ แต่ถ้าคุณเดินช้า คุณมีโอกาสที่จะโดนคนอื่นแซงและชนได้

 

ประหนึ่งคุณเป็นปลาว่ายอยู่ในลำธารเชี่ยวกราก ถ้าคุณไม่ว่ายตามน้ำ คุณก็จะโดนน้ำผลักคุณอยู่ตลอดเวลา ความน่าสนใจของการเดินเท้าด้วยความเร็วของคนนับพันในเส้นทางเข้าเมืองเดียวกันคือช่วงที่ต้องเดินผ่าน “ประตูหมุน”

 

ประตูหมุนแบบที่เราเคยเห็นในสุวรรณภูมิ ประตูที่ออกแบบมาเพื่อกันอากาศหนาวข้างนอกไหลเข้าสู่ด้านใน ในประเทศไทย เราสามารถเห็นประตูหมุนแบบนี้ได้ที่สนามบิน และโรงพยาบาลชื่อดัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบ auto หรือหมุนเองช้า ๆ เมื่อคุณเข้าใกล้ แต่ที่นิวยอร์ก ทุกอย่างเป็นระบบ manual คือผลักเอง ดันเอง หมุนเอง แล้วเกิดอะไรขึ้น? ด้วยจำนวนคนมหาศาล บวกกับความเร็วในการเดินในชั่วโมงเร่งรีบ ประตูหมุนที่ว่า มันหมุนเร็วมากประหนึ่งเครื่องจักร เรียกได้ว่า ถ้าเป็นมือใหม่ คุณต้องเล็งให้ดีก่อนจะวิ่งผ่านเข้าไปในประตูนั่น ผิดพลาดพลั้งอาจจะมีบาดเจ็บได้ ด้วยความที่ทางเดินนี้ใหญ่ เจ้าประตูหมุนที่ว่าจึงมีจำนวนมาก ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 6 บานเห็นจะได้ ประตูหมุน 6 บานที่เรียงกันเป็นหน้ากระดาน หมุนอย่างรวดเร็วเพราะคลื่นมนุษย์จำนวนมาก

 

ผมเดินผ่านมันทุกครั้งจนชำนาญ และทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมชอบคิดว่า “จะดีไหม ถ้ามีคนมาติดเครื่องปั่นไฟไว้ตรงนี้
ประตูมนุษย์นี้น่าจะปั่นไฟใช้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว”

 

การได้เห็นประตูมนุษย์แบบนี้ ทำให้ผมเริ่มสังเกตพฤติกรรมการ “เดินเร็ว” ของคน ไม่เพียงแต่ในนิวยอร์ก แต่อีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ผมสังเกตการเดินเร็วของคนตามเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง ลอนดอน หรือแม้แต่กรุงเทพเอง พบว่า.. ประเทศที่วุ่นวายเร่งรีบ ผู้คน active จะมีอัตราการเดินที่เร็ว แล้วประเทศไหนเร็วกว่ากัน? ถ้าวัดเอาจากสายตา คงจะวัดได้ยาก ผมจึงลองไป research ดูว่ามีคนอยากจะรู้ความเร็วในการเดินของคนแต่ละประเทศกันบ้างไหม? แล้วก็มีครับ

 

ผมค้นพบว่าศาสตราจารย์ Richard Wiseman เค้าได้ทำการวิจัยร่วมกับสถานบัน British Council เมื่อปี 2006 เพื่อวัดความเร็วในการเดินของมนุษย์ใน 31 เมืองทั่วโลกภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “Pece of Life Project” การวิจัยเริ่มด้วยการวัดความเร็วในการเดินของคนในแต่ละเมือง แบ่งออกเป็นชาย 45 คน และ หญิง 45 คน โดยวัดระยะทางในการเดินประมาณ 60 ฟุต ในวันที่อากาศปกติ และแน่นอน การวัดความเร็วต้องทำโดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว จากผลลัพธ์ที่ได้รับ นักวิจัยได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า “ใครเดินเร็วกว่ากัน” นั่นคือ มนุษย์เดินเร็วขึ้นกว่าที่เคยวัดไว้เมื่อต้นปี 1990s สูงขึ้นเฉลี่ย 10% โดยเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเดินเร็วขึ้นกว่าเดิมมากส่วนใหญ่อยู่ในเอเซีย เช่น เมืองกวางเจา เดินเร็วขึ้น 20% ส่วนสิงคโปร์เดินเร็วขึ้นถึง 30% !!

 

ส่วนอันดับการเดินเร็วน่ะหรอ? จาก 31 ประเทศ พบว่าประเทศที่ได้ระดับการเดินเร็วที่สุด อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ เดินเร็ว 10.55 วินาที ต่อระยะทาง 60ฟุต หรือประมาณ 6.15 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง !!!!!! รองลงมาคือ โคเปนเฮเกน, มาดริด, กวางเจา, ดับบลิน ส่วนนิวยอร์กอยู่อันดับที่ 8 ลอนดอน อันดับที่ 12 และโตเกียวอยู่อันดับที่ 19
ส่วนกรุงเทพฯ นั่นหรอ? เค้าไม่ได้มาสำรวจครับ

 

แต่ส่วนตัวเชื่อว่า คนเมืองกรุงเทพอย่างเรา ไม่ได้เดินเร็วซักเท่าไหร่นัก การศึกษาเรื่องการเดินเร็วยังถูกวัดเทียบกับเรื่องเศรษฐกิจประเทศ ขนาดของเมือง ว่ามีความสัมพันธ์กันด้วยหรือไม่? และจากการศึกษาก็ค้นพบว่ามี! ไม่น่าเชื่อนะครับว่า แค่การเดินเร็วของมนุษย์ในแต่ละเมือง ก็สามารถบอกอะไรกับเราได้ไม่น้อยเลย

Related Articles

11 สิ่งที่ทำให้ตกม้าตาย สมัครงานทางไกลไม่ได้สักที

ผู้คนมากกว่า 65% อยากทำงานทางไกลแบบเต็มรูปแบบ วันนี้เรารวบรวม 11 ขั้นตอนผิดๆ ที่ผู้สมัครมักทำพลาดจนทำให้ไม่ได้งานทางไกลสักที

Article | Business | Living

ย้อนดู Consumer Behavior Trend 2018 เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค Part 2

บทความนี้ต่อจากเรื่อง Consumer Behavior Trend 2018 เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค part ที่แล้ว ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต เช่น…

Creative Wisdom | Digital Marketing | Podcast

5 เทคนิคจัดการชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทุกคนมีเวลา 24 ชม.ต่อวัน เท่ากัน คนที่จัดการชีวิตและเวลาของตัวเองได้คือคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ วันนี้ลองมาดู 5 เทคนิคจัดการชีวิตตัวเองกัน

Article | Living